วันพฤหัสบดีที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2556

“เซลล์” องค์ประกอบที่สำคัญของสิ่งมีชีวิต

ถ้าจะกล่าวถึงสิ่งมีชีวิต ส่วนประกอบแรกที่เราจะนึกถึงคืออะไรคะ?..................


หลายคนอาจจะมีคำตอบที่แตกต่างกัน แต่สำหรับออยนะคะ ส่วนประกอบแรกของสิ่งมีชีวิตที่ออยจะนึกถึง คือ เซลล์ (cell)

       ร่างกายของคนเราดำรงชีวิตอยู่ได้ด้วยการทำงานของระบบต่างๆ และอวัยวะที่เกิดจากเนื้อเยื่อ ซึ่งเนื้อเยื่อประกอบด้วยหน่วยย่อยเล็ก ๆ ลงไปที่เรียกว่า เซลล์ ซึ่งเซลล์เป็นหน่วยโครงสร้างพื้นฐานของสิ่งมีชีวิตที่เล็กที่สุด


ทราบหรือไม่คะว่าผู้ที่ค้นพบเซลล์เป็นคนแรกคือใคร?


>> Robert Hooke นักวิทยาศาสตร์ชาวอังกฤษ เป็นคนแรกที่เห็นเซลล์จากการใช้กล้องจุลทรรศน์ที่ประดิษฐ์ขึ้นเอง นำมาศึกษาไม้คอร์ก ภาพที่เห็นเป็นห้องสี่เหลี่ยมกลวงๆคล้ายรังผึ้ง
>> Antonie van Leeuwenhoek นักวิทยาศาสตร์ชาวเนเธอร์แลนด์ มองเป็นเซลล์ที่ยังมีชีวิตเป็นคนแรก โดยเรียกสิ่งที่เห็นว่า animalicules ซึ่งหมายถึง สัตว์ตัวเล็กๆ

       เซลล์ส่วนใหญ่มีขนาดเล็กมากค่ะ ไม่สามารถสังเกตได้ด้วยตาเปล่า การศึกษาเกี่ยวกับเซลล์จึงต้องอาศัยกล้องจุลทรรศน์  ถ้ากล้องจุลทรรศน์นั้นมีกำลังขยายสูงก็จะพบรายละเอียดของสิ่งที่เราต้องการ สังเกตมากขึ้น เซลล์สิ่งมีชีวิตมีรูปร่างและโครงสร้างภายในที่แตกต่างกัน


       สิ่งมีชีวิตบางชนิดประกอบด้วยเซลล์เพียงเซลล์เดียวก็สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ และสิ่งมีชีวิตบางชนิดประกอบด้วยเซลล์หลายเซลล์ เซลล์เหล่านี้มีโครงสร้างบางอย่างที่เหมือนและแตกต่างกัน

โครงสร้างพื้นฐานของเซลล์
                เซลล์มีโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ 3 ส่วน คือ
                1. ส่วนที่ห่อหุ้มเซลล์ แบ่งออกเป็น
                                1.1 ผนังเซลล์ (Cell Wall)
                                1.2 เยื่อหุ้มเซลล์ (Cell Membrane)
                2. ไซโทพลาซึม (Cytoplasm) ประกอบด้วย
                                2.1 ไซโทซอล (Cytosol)
                                2.2 ออร์แกเนลล์ (Organelles)
                3. นิวเคลียส (Nucleus) ประกอบด้วย
                                3.1 เยื่อหุ้มนิวเคลียส (Nuclear Membrane)
                                3.2 นิวคลีโอพลาซึม (Nucleoplasm) ประกอบด้วย
                                                - โครมาทิน (Chromatin)
                                                - นิวคลีโอลัส (Nucleolus)

เรามาทำความรู้จักกับรูปร่างและลักษณะของเซลล์กันค่ะ......



       จากข้อมูลข้างต้นจะเห็นว่า "เซลล์" มีโครงสร้างและองค์ประกอบที่สำคัญต่างๆมากมาย ออยและเพื่อนๆจึงได้จัดทำคลิปวีดีโอเกี่ยวกับเซลล์และองค์ประกอบของเซลล์ โดยจัดทำเป็นสื่อการเรียนรู้สั้นๆ ผู้ที่สนใจสามารถเข้าไปชมตามลิ้งค์ข้างล่างได้ค่ะ

คลิ๊กได้เลยค่ะ >>>>>>> เซลล์ (cell)

      **ขอให้คลิปวีดีโอชิ้นนี้เป็นสื่อการเรียนรู้ที่สามารถสร้างประโยชน์สำหรับผู้ที่ได้รับชมนะคะ**


ที่มา
- เอกสารประกอบการเรียนวิชาชีววิทยา ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4
- www.wikipedia.com
- www.learners.in.th





วันศุกร์ที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2556

จากคำว่า “สิ่งประดิษฐ์” สู่ “นวัตกรรมทางการศึกษา”

ความก้าวหน้า และก้าวทันการเปลี่ยนแปลงของโลกนั้น มันไม่ง่ายเลยที่เราแต่ละคนจะสามารถก้าวทันการเปลี่ยนแปลงนั้นไปได้ทุกๆอย่าง ในวงการการศึกษาก็เช่นเดียวกันค่ะ การเปลี่ยนแปลงทางการศึกษาในยุคปัจจุบันก็ก้าวหน้าไปมาก ในฐานะที่ตัวเราเองเป็นครู จึงต้องมีการพัฒนาตนเอง นำสิ่ง หรือสื่อการเรียนรู้ในรูปแบบใหม่ มาใช้ในการเรียนการสอน เพื่อช่วยให้การเรียนของนักเรียนมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

          สำหรับครูวิทยาศาสตร์ เราก็ปฏิเสธไม่ได้เลยค่ะว่าต้องใช้สื่อการสอนเป็นตัวช่วยในการจัดการเรียนการสอนเป็นอย่างมาก แต่ด้วยข้อจำกัด และเหตุผลในหลายๆอย่าง เราก็ทำได้แค่เพียงคิดสิ่งประดิษฐ์จากสิ่งที่อยู่ใกล้ตัวนำมาเป็นสื่อการเรียนการสอน  

ขอยกตัวอย่างนะคะ

>> พี่กอบวิทย์ พิริยะวัฒน์ ครูวิทยาศาสตร์ โรงเรียนนนทรีวิทยา (รุ่นพี่ เอกวิทยาศาสตร์ทั่วไป มศว ค่ะ)
หลายๆคนอาจจะรู้จักค่ะ เพราะพี่กอบวิทย์เป็นครูสอนอยู่ที่รายการโทรทัศน์ครู และมีเว็บไซต์เกี่ยวกับการเรียนรู้ในวิชาวิทยาศาสตร์
   
                 



สิ่งประดิษฐ์ทั้งสองชิ้นนะคะ จะเน้นให้ผู้เรียนเห็นภาพที่ชัดเจนมากขึ้น ซึ่งเราไม่สามารถเรียนรู้ได้จากของจริงที่อยู่นอกห้องเรียน แต่สามารถประดิษฐ์สื่อที่ใกล้เคียง และสามารถเรียนรู้ได้ภายในห้องเรียนค่ะ

จากสื่อการเรียนรู้ข้างต้น จะเห็นได้นะคะว่า แค่เพียงเรารู้จักคิดและประดิษฐ์สิ่งเรียนรู้ใหม่ๆนอกเหนือจากหนังสือเรียนได้ค่ะ


ในปัจจุบัน สื่อและสิ่งประดิษฐ์ทางการศึกษาที่เรารู้จักกัน ถูกเรียกให้เข้ากับยุคและสมัยที่เปลี่ยนแปลงไ

-------------------------------->>>>>>> “นวัตกรรมทางการศึกษา”

          ความหมายก็คือ ความคิดและกระบวนการใหม่ ๆ ที่ไม่เคยมีมาก่อนหรือการพัฒนาดัดแปลงจากของเดิมให้ดีขึ้นและเมื่อนามาใช้ ก็ทำให้งานมีประสิทธิภาพมากขึ้น





จากภาพจะเห็นว่า Innovation ( มีรากศัพท์มาจาก innovare ในภาษาลาติน แปลว่า ทำสิ่งใหม่ขึ้นมา) ที่แปลว่า นวัตกรรม  ซึ่งคำๆเดียวนี้สามารถส่งผลให้เกิดแนวคิดและสิ่งประดิษฐ์ใหม่ๆได้อย่างหลากหลาย


ในทางการศึกษาก็เช่นเดียวกันค่ะ
          ปัจจัยสาคัญที่มีอิทธิพลอันมีผลทำให้เกิดนวัตกรรม
          1. แนวความคิดพื้นฐานในเรื่องความแตกต่างระหว่างบุคคล (Individual Different) นวัตกรรมที่เกิดขึ้นเพื่อสนองแนวความคิดพื้นฐานนี้ เช่น 
          - การเรียนแบบไม่แบ่งชั้น (Non-Graded School) 
          - แบบเรียนสาเร็จรูป (Programmed Text Book) 
          - เครื่องสอน (Teaching Machine) 
          - เครื่องคอมพิวเตอร์ช่วยสอน (Computer Assisted Instruction)
          2. แนวความคิดพื้นฐานในเรื่องความพร้อม (Readiness) นวัตกรรมที่สนองแนว ความคิดพื้นฐานด้านนี้ เช่น 
          - ศูนย์การเรียน (Learning Center)
          - การจัดโรงเรียนในโรงเรียน (School within School)
          - การปรับปรุงการสอนสามชั้น (Instructional Development in 3 Phases) 
          3. แนวความคิดพื้นฐานในเรื่องการใช้เวลาเพื่อการศึกษา นวัตกรรมที่ สนองแนวความคิด เช่น 
          - การจัดตารางสอนแบบยืดหยุ่น (Flexible Scheduling) 
          - มหาวิทยาลัยเปิด (Open University) 
          - แบบเรียนสาเร็จรูป (Programmed Text Book) 
          - การเรียนทางไปรษณีย์ 
          4. แนวความคิดพื้นฐานในเรื่องการขยายตัวทางวิชาการและอัตราการเพิ่มประชากร นวัตกรรมในด้านนี้ที่เกิดขึ้น เช่น 
          - มหาวิทยาลัยเปิด 
          - การเรียนทางวิทยุ การเรียนทางโทรทัศน์ 
          - การเรียนทางไปรษณีย์ แบบเรียนสาเร็จรูป 

แต่จะเห็นได้ว่าการเรียนรู้ที่ก่อให้เกิดนวัตกรรมต่างๆนั้นล้วนเกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีเพื่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาที่ดีขึ้น ดังนี้

การประยุกต์ใช้เทคโนโลยี
          การนำ เทคโนโลยีมาใช้กับงานในสาขาใดสาขาหนึ่งนั้น เทคโนโลยีจะมีส่วนช่วยสำคัญ 3 ประการ และถือเป็นเกณฑ์ในการพิจารณานาเทคโนโลยีมาใช้ด้วย 
          1. ประสิทธิภาพ ( Efficiency ) เทคโนโลยีจะช่วยให้การทำงานบรรลุผลตามเป้าหมายได้อย่างเที่ยงตรงและรวดเร็ว
          2. ประสิทธิผล ( Productivity ) เป็นการทำงานเพื่อให้ได้ผลผลิตออกมาอย่างเต็มที่มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ เพื่อให้ได้ประสิทธิผลสูงสุด
          3. ประหยัด ( Economy ) เป็นการประหยัดทั้งเวลาและแรงงานในการทำงานด้วยการลงทุนน้อยแต่ได้ผลมากกว่าที่ลงทุนไป


 จากการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการสร้างนวัตกรรม มีนวัตกรรมทางการศึกษาชิ้นหนึ่งที่น่าสนใจค่ะ

“Blackboard learn”
          เป็นระบบสนับสนุนการจัดการเรียนการสอนผ่านระบบอินเทอร์เน็ต โดยครูผู้สอนสามารถสร้างรายวิชา บันทึกข้อมูลรายวิชา เนื้อหา และเอกสารต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อสร้างเป็นเว็บไซต์รายวิชาได้ด้วยตนเอง โดยผู้สอนและผู้เรียนสามารถเข้าไปใช้งานในฟังก์ชันต่างๆของระบบได้
- การประกาศช่าวสาร
- การเผยแพร่เอกสารต่างๆ
- การรับ – ส่ง การบ้าน
- การจัดทำแบบทดสอบความรู้
- การแลกเปลี่ยนความคิดเห็น
- การประเมินผลการเรียน
ซึ่งนวัตกรรมการเรียนรู้นี้ทางศูนย์นวัตกรรมการเรียนรู้ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้นำมาใช้ในการจัดการเรียนการสอน (คล้ายๆกับ A-tutor ของมศว ค่ะ)


จากภาพ เป็นรูปแบบ Blackboard learn สำหรับใช้เชื่อมต่อกับระบบอินเทอร์เน็ตในคอมพิวเตอร์ค่ะ






จากภาพ เป็นการใช้ blackboard learn ผ่าน  Blackboard Mobile ซึ่งออกแบบให้ทำงานกับเครื่องมือพกพาแบบต่างๆ ได้อย่างหลากหลาย และได้ให้สิทธิจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยใช้ Feature : Blackboard Mobile Learn ฟรีเป็นเวลา 1 ปี โดยสามารถ Download Application Bb Mobile ได้ที่ App Store ซึ่งการเรียนรู้ผ่าน Bb Mobile สามารถใช้ได้สะดวก สบาย ทุกที่ ทุกเวลาค่ะ


          จากสิ่งที่อยู่รอบตัวเรา แม้เป็นเป็นสิ่งที่ไม่ได้มีมูลค่ามาก แต่หากเพียงเรารู้จักนำมาประยุกต์ใช้ นวัตกรรมการศึกษาใหม่ก็สามารถเกิดขึ้นและใช้กับการเรียนการสอนได้อย่างมีประสิทธิภาพค่ะ แต่ถ้าเรานำเทคโนโลยีที่กำลังพัฒนา และสร้างความก้าวหน้าที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ในยุคปัจจุบัน มาสรรค์สร้างเป็นสื่อ และนวัตกรรมการเรียนรู้ใหม่ ก็จะส่งผลให้การเรียนรู้ของเด็กไทยเกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลมากยิ่งขึ้น


 แหล่งที่มา
- www.tercherkobwit2010.wordpress.com
- www.lic.chu.ac.th/-blackboard.html
- www.it.east.spu.ac.th/informatics/admin/knowledge

วันพุธที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2556

อิทธิพลของสื่อต่อการสื่อสารการศึกษา

          พัฒนาการการเรียนการสอนในปัจจุบัน ได้ให้ความสำคัญกับผู้เรียนเป็นอย่างมาก ซึ่งในหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ.2551 ได้กำหนดไว้ว่า การจัดการเรียนการสอนควรยึดผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง (Child Center) ผู้สอนจะต้องมีความรอบรู้มากกว่า เนื้อหาสาระของวิชาที่จะสอน และต้องมีความสนใจเกี่ยวกับตัวผู้เรียนแต่ละคนมากขึ้น ทั้งพฤติกรรมและความประพฤติของผู้เรียน ตลอดจนความสนใจ ความสามารถของแต่ละบุคคล ผู้สอนจะต้องนำความรู้ความเข้าใจต่างๆเหล่านี้ มารวบรวมวิเคราะห์และประยุกต์เพื่อใช้ประกอบการสอน การสร้างหลักสูตร การพัฒนาบทเรียน สื่อการสอน อุปกรณ์การศึกษา และการปรับปรุงการสอน


          ในด้านการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญนั้น ปัจจุบันเราจึงได้นำเทคโนโลยีทางการศึกษามาเป็นสื่อช่วยในการจัดการเรียนรู้ ให้ผู้เรียนมีโอกาสศึกษาหาความรู้ด้วยตนเองตามความสนใจของตน ซึ่งเทคโนโลยีและสื่อการการศึกษา คือ กระบวนการที่มีการบูรณาการระหว่าง เครื่องมือในการพัฒนาการศึกษา ได้แก่ เทคโนโลยีสารสนเทศ โทรคมนาคม การสื่อสารมวลชน วิธีการการจัดการเรียนรู้ และการจัดแหล่งทรัพยากรในการเรียนรู้ มาใช้ในการจัดการศึกษาเพื่อให้เกิดการเรียนรู้และประสิทธิภาพในการเรียนมากยิ่งขึ้น
          จากการนำเทคโนโลยีมาปรับใช้ให้เข้ากับการศึกษา จึงทำให้เกิดสื่อมวลชนการศึกษา ซึ่งเป็นช่องทางในเรียนรู้ของผู้เรียนเพิ่มมากขึ้น เช่น
          
          1. สิ่งพิมพ์
              - หนังสือเล่ม เช่น หนังสือแบบเรียน พจนานุกรม สารานุกรม หนังสือการ์ตูน ฯลฯ
              - หนังสือพิมพ์ เช่น การเมือง เศรษฐกิจ การศึกษา บันเทิง ฯลฯ
              - นิตยสาร เช่น วารสารวิชาการ จุลสาร ฯลฯ
          2. วิทยุ
              - รายการเพื่อการศึกษา
              - รายการเพลง
              - รายการข่าว
              - ฯลฯ
          3. โทรทัศน์
              - ข่าว
              - สารคดี
              - ละคร
              - ฯลฯ
          
          ซึ่งจากสื่อที่ยกตัวอย่างดังกล่าวนั้น เป็นสิ่งที่ผู้เรียนสามารถศึกษาค้นคว้าได้ด้วยตนเอง แต่เพื่อการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพและได้รับประโยชน์สูงสุด ครูผู้สอนและผู้ปกครองก็ควรมีบทบาทในการช่วยชี้แนะแนวทางในการเรียนรู้ ซึ่งถ้าหากผู้เรียนบริโภคสื่อในทางที่ผิดก็อาจจะทำให้เกิดโทษต่อผู้เรียนและนำไปใช้ในทางที่ผิดได้

         ในด้านของการสื่อการการศึกษานั้น ปัจจุบันมีหลากหลายช่องทางในการเข้าถึงข้อมูล รวมทั้งการรับข้อมูลทางการศึกษา ซึ่งไม่ว่าจะอย่างที่ใด ที่ที่ห่างไกล หรือคนละซีกโลก ก็สามารถรับข้อมูลทางการศึกษาได้ ซึ่งการรับข้อมูลในปัจจุบันมีหลากหลายช่องทาง เช่น
          - โทรศัพท์ สามารถรับข้อมูลในรูปแบบสายโทรศัพท์ และโทรศัพท์ไร้สาย ซึ่งในปัจจุบันมีใช้กันอย่างแพร่หลายที่เรารู้จักในนามของ "Smartphone" นั่นเอง ซึ่งผู้เรียนสามารถใช้เป็นช่องทางในสื่อสารทางการศึกษาได้ทุกที่ทุกเวลา
          - ดาวเทียม ในปัจจุบันได้นำการสื่อสารผ่านดาวเทียมมาเป็นตัวช่วยในการสื่อสารทางการศึกษา ซึ่งทำให้ผู้เรียนที่อยู่ในที่ห่างไกล ได้มีโอกาสเรียนรู้ผ่านดาวเทียม เช่น โรงเรียนวังไกลกังวล ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงริเริ่มให้โรงเรียนได้ผลิตสื่อ และถ่ายทอดการเรียนส่งไปให้นักเรียนที่อยู่ห่างไกลบนดอยได้เรียนรู้ร่วมด้วย เป็นต้น
          - เครือข่ายคอมพิวเตอร์ เป็นช่องทางการศึกษาที่สามารถเชื่อมต่อกันได้อย่างกว้างขวางมาก แม้กระทั่งคนที่อยู่คนละซีกโลกก็สามารถติดต่อสื่อสารและแลกเปลี่ยนความรู้ซึ่งกันและกันผ่านเครือข่ายนี้ ที่เรารู้จักกันว่า "Internet" ซึ่งทำให้เกิดการสื่อสารแบบ "ไร้พรหมแดน" แต่ในปัจจุบันไม่ใช่เฉพาะเครื่องคอมพิวเตอร์เท่านั้นที่สามารถเชื่อมต่อระบบอินเทอร์เน็ตได้ นวัตกรรมทางเทคโนโลยีใหม่ๆก็สามารถเชื่อมต่อระบบนี้ได้เช่นกัน ได้แก่ Smartphone, iPod, iPad, Tablet เป็นต้น


          จะเห็นได้ว่า จากการเปลี่ยนแปลงและการพัฒนาทางเทคโนโลยี ทำให้เกิดนวัตกรรมและสื่อทางการศึกษามากมาย ไม่ว่าจะเป็นสื่อด้านมวลชนต่างๆ เช่น หนังสือ วิทยุ โทรทัศน์ ฯลฯ ล้วนแล้วแต่เป็นช่องทางเลือกทางการศึกษาให้ผู้เรียนได้ศึกษาค้นคว้า ซึ่งการสื่อสารทางการศึกษาในปัจจุบันมีมากมายหลายรูปแบบ อาทิ ทางโทรศัพท์ เครือข่ายคอมพิวเตอร์ ระบบอินเทอร์เน็ต และการสื่อสารผ่านดาวเทียม ซึ่งเราจะปฏิเสธไม่ได้เลยว่าสื่อเหล่านี้มีอิทธิพลต่อการสื่อสารการศึกษาเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากโลกในยุคปัจจุบันได้พัฒนาไปมาก การใช้สื่อเหล่านี้เข้ามาช่วยจึงทำให้การสื่อสารทางการศึกษาสามารถเข้าถึงในผู้เรียนทุกกลุ่ม เช่น ผู้เรียนที่อยู่ห่างไกล ผู้เรียนที่อยู่คนละประเทศ เป็นต้น แต่ในที่นี้เราก็ต้องยอมรับว่าประโยชน์ของการใช้สื่อในการสื่อสารการศึกษานั้นก็มีประโยชน์กับผู้เรียนอยู่มาก แต่เราต้องมองในอีกด้านที่เป็นโทษจากการใช้สื่อต่างๆอีกด้วย ดังนั้น ครูผู้สอน และผู้ปกครอง ควรให้คำแนะนำและคอยช่วยเหลือดูแลการใช้สื่อในด้านต่างๆ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อผู้เรียนและไม่ส่งผลเสียต่อตนเองและสังคมอีกด้วย

ขอบคุณภาพจาก
          - บทความ สุขภาพ วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การศึกษา www.vchakaen.com
          - www.kmitl.ac.th

วันพฤหัสบดีที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

"แนวคิดใหม่ทางการศึกษา กับการก้าวหน้าทางเทคโนโลยี"

          ในปัจจุบัน โลกของเรามีการเปลี่ยนแปลงไปจากอดีตเป็นอย่างยิ่ง มนุษย์เรารู้จักประดิษฐ์คิดค้นสิ่งต่างๆขึ้นมาเพื่ออำนวยความสะดวกต่อการดำรงชีวิตประจำวันของตน รู้จักการนำเทคโนโลยีใหม่ๆมาใช้เพื่อตอบสนองความต้องการและสามารถดำเนินชีวิตได้อย่างมีความสุข

         
          นอกจากการเปลี่ยนแปลงในทุกๆด้านแล้ว ทางด้านการศึกษาก็เช่นเดียวกัน ได้มีการนำเทคโนโลยีในด้านต่างๆมาใช้เป็นสื่อในการจัดการเรียนการสอน ซึ่งทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในรูปแบบใหม่ๆ ดังคำที่ว่า " กระบวนทัศน์ใหม่ทางการศึกษา "
          คำว่า กระบวนทัศน์ หมายถึง กระบวนการวิเคราะห์ วิธีคิด วิธีปฏิบัติ แนวการดำเนินชีวิต เพื่อให้สอดคล้องกับยุค และสถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้น โดยในทางวิทยาศาสตร์ได้นิยามไว้ว่า คือตัวอย่างต่างๆที่เป็นที่ยอมรับของการทำงานด้านวิทยาศาสตร์อย่างแท้จริง รวมไปถึง กฎ ทฤษฎี การนำไปใช้และเครื่องมือ ซึ่งก่อให้เกิดรูปแบบที่นำไปสู่การปฏิบัติที่เชื่อมโยงกัน
          ซึ่งจากการเปลี่ยนแปลงทางการศึกษา ทำให้มีการนำเทคโนโลยีในด้านต่างๆมาใช้จัดการเรียนการสอน ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเรียนรู้ไปอย่างหลากหลาย เช่น
                    - สถานที่เรียนใหม่ ซึ่งไม่จำเป็นที่จำต้องนั่งเรียนอยู่แต่ภายในห้อง นอกห้องเรียน สนามหญ้า ฯลฯ ถือว่าเป็นแหล่งเรียนรู้ที่เสริมสร้างพัฒนาการของผู้เรียนได้เป็นอย่างดี
                    - ห้องสมุด เป็นแหล่งค้นคว้าความรู้เพิ่มเติมใหม่ๆ นอกจากตำราเรียน
                    - การเรียนแบบออนไลน์ ช่วยให้ผู้เรียนสามารถเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง จากที่บ้าน หรือสถานที่ต่างๆที่เชื่อมต่อระบบอินเทอร์เน็ต ไม่จำเป็นต้องเรียนรู้แต่เฉพาะภายในโรงเรียน เช่น การเรียนผ่าน e-learning, e-books เป็นต้น
                    - บทเรียนสำเร็จรูป CAI เป็นบทเรียนที่สร้างขึ้นเพื่อให้ผู้เรียนสามารถเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง ประกอบด้วยเนื้อหา แบบฝึกหัด เฉลยแบบฝึกหัด
                    - Videos การสอน ช่วยให้ผู้เรียนสามารถเรียนรู้สิ่งต่างๆจากการดูวิดีโอที่เสมือนกับการปฏิบัติด้วยตนเอง
                    - การสร้าง Blogs เป็นช่องทางการเรียนรู้และการสื่อสารสำหรับผู้สอนและผู้เรียน เป็นสื่อที่ช่วยให้ผู้เรียนได้แสดงความคิดเห็น สร้างข้อมูล นำเสนอบทความในด้านต่างๆที่สร้างสรรค์ ซึ่งสามารถให้ผู้อื่นเข้ามาแสดงความคิดเห็น และร่วมแบ่งปันความรู้และประสบการณ์ร่วมกันได้
                    - Tablet เพื่อการศึกษา เป็นการนำบทเรียนในรายวิชาต่างๆ เช่น ภาษาไทย สังคมศึกษา ภาษาอังกฤษ วิทยาศาสตร์ ฯลฯ ในรูปแบบ e-books มาใส่ไว้ใน tablet เพื่อให้นักเรียนชั้นประถมศึกษาได้เรียนรู้



          จากการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี และแนวคิดใหม่ทางการศึกษา ออยเชื่อว่า "กระบวนทัศน์ใหม่ทางการศึกษา กับการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี" สามารถสร้างให้ระบบการศึกษาของเด็กไทยมีการพัฒนาไปในทางที่สร้างสรรค์และเกิดประโยชน์เป็นอย่างมาก ขอเพียงแต่ สถานศึกษา ครูผู้สอน ผู้ปกครอง รวมถึงตัวผู้เรียน เล็งเห็นถึงความสำคัญของเทคโนโลยี นำประโยชน์ของมันมาประยุกต์ใช้ให้เข้ากับการศึกษาได้อย่างถูกต้อง ก็จะส่งผลให้การเรียนมีประสิทธิภาพ ก้าวทันการเปลี่ยนแปลงของนานาชาติ และเป็นการเตรียมความพร้อมสู่ประชาคมอาเซียนที่กำลังจะเกิดขึ้นในอีกไม่กี่ปีข้างหน้านี้


ขอบคุณภาพจาก
     - nathapong2english.wordpress.com
     - learner.in.th
     - visurview.blogspot.com

วันพุธที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

Our World...."Aoy's World"

          ต้นไม้ ทุ่งหญ้า ภูเขา เสียงนกขับร้องในยามเช้า เป็นสิ่งที่อยู่รอบตัวออยตั้งแต่จำความได้
โลกของออยคือธรรมชาติที่อยู่รอบๆตัวเรา "สุพักตราพรรณ สุวรรณศรี" เป็นชื่อที่พ่อออยตั้งให้ ชื่อออยแปลกใช่รึเปล่าคะ.. 5555 หลายคนที่ได้ยินชื่อของออยต้องอดถามไม่ได้ว่า ชื่อยาวจังเลย แปลว่าอะไร? ชื่อของออยแปลว่า ผู้ที่ใบหน้าและผิวพรรณงดงามค่ะ ตอนเด็กๆเวลาคุณครูเรียกชื่อ ออยจะนึกอยู่เสมอว่า ชื่อเราแปลกจัง ทำไมไม่เหมือนชื่อเพื่อนๆคนอื่นเลย แต่ตอนนี้ความรู้สึกนั้นได้หมดไปแล้วค่ะ ออยรู้สึกดีและภูมิใจมากที่พ่อของออยตั้งชื่อลูกได้เก่งมากๆค่ะ ออยรับรองว่าคนในประเทศไทยไม่มีใครชื่อซ้ำกับออยแน่นอนค่ีะ ชื่อเล่นก็ตามนี้เลยค่ะ "ออย" ออยเป็นลูกคนเดียว ครอบครัวของออยมี 5 คน มี พ่อ แม่ ตา ยาย แล้วก็ออย ครอบครัวของเราอยู่ที่อำเภอเมือง จังหวัดปราจีนบุรี เป็นจังหวัดเล็กๆ แต่เราก็มีความสุขมากค่ะ
       
          ออยเกิดมาในครอบครัวที่อยู่กับธรรมชาติ บ้านออยเป็นบ้านสวนค่ะ มีไม้ผลมากมายหลากหลายชนิด เช่น ทุเรียน มังคุด ลองกอง กล้วย มะนาว ฯลฯ มีเยอะเลยทีเดียว แต่ออยกลับไม่ชอบกิน 55555


          ออยจบชั้นประถมศึกษาจากโรงเรียนกองทัพบกอุปถัมภ์จักรพงษ์พิทยาลัย และจบชั้นมัธยมศึกษาจากโรงเรียนปราจิณราษฎรอำรุง ที่จังหวัดปราจีนบุรีค่ะ ออยเป็นคนชอบวาดรูปมากกกกกก ย้ำว่ามาก!!ออยก็เลยมีความฝันว่าจะเรียนสถาปัตย์ แต่เมื่อบอกความฝันของตัวเองให้แม่ฟัง ความฝันของออยต้องหลุดลอยไปในอากาศ แม่บอกว่า "ถ้าไม่เจ๋งจริง อย่าคิดจะเรียน" ง่ายๆเลยก็คือ แม่ไม่ให้เรียน!! จากนั้นออยก็ต้องตัดใจค่ะ หลังจากนั้น ความเป็นครูก็เข้ามาฝังลึกในจิตใจ แต่ก็ยังอดคิดไม่ได้ว่าจะเป็นครูศิลปะ... 55555 แต่ในช่วงชีวิต ม.ปลาย ออยชอบเรียนชีววิทยามาก เพราะเป็นวิชาที่ทำให้เราได้ออกไปท่องในโลกแห่งธรรมชาติ ได้เรียนรู้เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม อาณาจักรพืชและสัตว์ และสิ่งต่างๆอีกมากมาย ออยจึงตัดสินใจว่า จะเรียนครูวิทยาศาสตร์ และสุดท้ายมันก็เป็นจริงค่ะ
     
          " คณะวิทยาศาสตร์ สาขาวิชาวิทยาศาสตร์ทั่วไป (กศ.บ.) มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ "
ที่แห่งนี้มอบโอกาสและสิ่งดีๆให้กับออยมากมาย และโอกาสดีๆยังส่งผลถึงการเรียนต่อในระดับชั้นปริญญาโท ออยเลือกที่จะเรียนต่อที่ มศว แขนงวิชา การทดสอบและวัดผลทางการศึกษาค่ะ ออยเลือกเรียนต่อสาขาวิชานี้เพื่อพัฒนาตนเอง และนำไปพัฒนาการศึกษา เพื่อนักเรียนตัวน้อยๆที่จะเติบโตเป็นอนาคตของชาติต่อไป


"ออยจะเป็นครูที่ดี ให้เหมาะสมกับการเป็นนิสิตครูของ มศว ค่ะ"